ขอบคุณ เป็นคำพูดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมไทย เป็นคำพูดที่ตอบแทนกลับในน้ำในที่อีกฝ่ายหนึ่งได้หยิบยื่นให้ ที่ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงคือ คำว่า "ขอบคุณ" เป็นคำที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจมาก เพราะเป็นคำพูดที่ไพเราะและตอบแทนถึงน้ำใจอันดีงาม สาเหตุที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจเพราะว่า เป็นคำพูดที่เราชาวไทยใช้พูดอยู่เสมอ ต่างชาติเลยเกิดความสงสัยว่า "ขอบคุณ" นี้หมายความว่าอะไร ทำไมคนไทยจึงนิยมพูดกันมากนัก คำว่า ขอบคุณ มีความตรงกับภาษาอังกฤษว่า Thank You เพียงเท่านี้ชาวต่างชาติก็คลายความสงสัย แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ เราชาวไทยจะมีท่าไหว้เพื่อแสดงการขอบคุณด้วย ด้วยเหตุนี้เองต่างชาติจึงให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะว่าเราทักทายกันว่า "สวัสดี" เราก็ไหว้ แล้วทำไม "ขอบคุณ" เราก็ไหว้อีก มันแสดงออกถึงวัฒนธรรมไทยที่แสดงออกไปให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ว่า เราก็มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งไม่แพ้ชาติอื่นใด
"ขอบคุณครับ" คำพูดสั้น ๆ สร้างรอยยิ้มพิมพ์ใจ คำว่า "ขอบคุณ" เพียงคำเดียวสามารถสร้างรอยยิ้มน้อย ๆ ให้กับคนที่ได้รับได้อย่างมากมาย เนื่องจากข้าพเจ้าทำงานในส่วนของงานต้อนรับของโรงแรมแห่งหนึ่ง จึงมีโอกาสได้ใช้คำว่าขอบคุณมากนแต่ละวัน ในแต่ละวันข้าพเจ้าก็จะสังเกตุว่าเมื่อข้าพเจ้าได้กล่าวคำพูดนี้ออกไปแล้ว สามารถสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้รับได้ แม้ว่าจะเป็นเพียงยิ้มมุมปากก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็สุขในเสมอ ในสายงานข้าพเจ้าต้องใช้คำนี้เป็นจำนวนมากครั้งในแต่ละวัน ข้าพเจ้าจึงมีความคุ้นเคยกับมันดี จนทำเป็นนิสัย ไม่ว่าจะขอบคุณในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เพราะข้าพเจ้าคิดว่ามันสามารถทำให้ผู้รับมีความสุขได้ "ขอบใจนะ" เป็นคำกล่าวขอบคุณให้กับเพื่อนในระดับเดียวกัน หรือผู้น้อยกว่า คำนี้ก็ใช้กันมากในสังคมไทย มันเป็นคำพูดที่ผู้ใหญ๋กว่าใช้ขอบคุณูผู้น้อยกว่า แต่ไม่เพียงแค่นั้น มันแสดงออกถึงความน่านับถือของผู้ใหญ่ที่ทำให้ผู้น้อยกว่าได้เห็นว่า ผู้ใหญ่คนนั้นมีความเป็นกันเอง ไม่เย่อหยิ่ง คำให้มีความน่านับถืออีกด้วย
ทุกวันนี้เราพูดคำว่า"ขอบคุณ" กันมากน้อยแค่ไหน ข้าพเจ้ามักจะกล่าวคำขอบคุณอยู่เสมอไม่ว่าจะไปใช้บริการที่ไหนก็ตามไม่เว้นแต่ห้างสรรพสินค้า อย่างพนักงงานในซุปเปอร์มาร์เก็ตยื่นของให้เรา พนักงานบางคนไม่แม่จะกล่าวคำว่าขอบคุณ แถมยังยื่นสินค้าให้เราโดยไม่ยิ้มแย้มอะไร แต่ข้าพเจ้าก็มักจะกล่าวขอบคุณให้ด้วยน้ำเสียงที่สดใสอยู่เสมอ แม้พนักงานท่านนั้นออกจะละเลยในงานบริการไปสักหน่อย แต่มันก็ทำให้เขายิ้มได้เล็กน้อย แล้วเขาต้องรู้ว่าเขาต้องกล่าวคำขอบคุณให้เรา มันอาจจะไปกระตุ้นต่อมรับรู้ให้เขาได้รู้สึกขึ้นมาก็ได้ แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะคำพูดขอบคุณของข้าพเจ้ามันสามารถทำให้พนักงานคนหนึ่งที่เหนื่อยล้าจากการยื่นมาทั้งวันได้ยิ้มได้ ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่าเขาอาจจะเหนื่อยก็ได้
นี่คือหนึ่งในวัฒนธรรมไทยที่เข้มแข็งอย่างหนึ่ง ที่สามารถอวดสายตาชาวโลกได้ว่าเราก็มีวัฒนธรรมไม่แพ้ชาติใดในโลก และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป มันเป็นการตอบแทนในน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อีกฝ่ายหนึ่งหยิบยื่นมาให้ พูดกันเยอะ ๆ เถอะครับ ประเทศเราจะได้ยิ้มได้ สร้างความสุขให้แก่กันเล็ก ๆ น้อย ๆ คนได้รับก็สุขใจ และคำว่าขอบคุณนี่ละครับมันจะสามารถสร้างอะไรต่อมิอะไรได้อีกหลาย ๆ อย่าง อย่างที่คุณจะไม่คาดคิดถึง สุดท้ายของข้อความนี้ ข้าพเจ้าคงต้องกล่าวคำว่า "ขอบคุณครับ" ที่ติดตาม
7 พฤศจิกายน 2552
26 ตุลาคม 2552
ภูมิปัญญาไทยใส่ใจโลกร้อน ลิเกฮูลูคณะแหลมทรายฟื้นฟูอ่าวปัตตานี
จังหวัดปัตตานีเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญมาช้านาน เพราะพื้นที่ส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวยื่นออกไปในทะเล เรียกว่า “อ่าวปัตตานี” เป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม นิเวศน์วิทยา ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในด้านนิเวศน์วิทยาถือว่าเป็นอ่าวที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพสูงแห่งหนึ่งของโลก จึงได้รับขึ้นบัญชีเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขังชายฝั่งทะเล ที่ควรแก่การอนุรักษ์ธรรมชาติ และทรัพยากรแห่งโลก และเนื่องจากอ่าวปัตตานีได้พัดพาเอาแร่ธาตุและตะกอนทำให้เกิดเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต จึงทำให้บริเวณอ่าวปัตตานีนั้นมีสัตว์น้ำและสัตว์หน้าดินเป็นจำนวนมาก
ความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือเกิดขึ้นภายในระยะเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง ความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานีมีแนวโน้มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่มีการใช้อวนรุนอวนลาก มีโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนได้รับเป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษ การขยายท่าเทียบเรือเพื่อรองรับเรือประมงและการขยายตัวของนากุ้ง และการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง อ่าวปัตตานีจึงกลายเป็นแหล่งรองรับและบ่อบำบัดตามธรรมชาติ แต่คงมีศักยภาพเป็นบ่อบำบัดได้เพียงในระดับหนึ่ง ถ้าไม่มีการเฝ้าระวังและการจัดการที่ดีเพื่อรักษาอ่าวปัตตานีให้คงสภาพเดิม ก็จะมีผลเสียด้านนิเวศน์และต่อผู้มีอาชีพประมง รวมทั้งธุรกิจนากุ้งและอุตสาหกรรมทุกประเภท
ชุมชนรอบอ่าวปัตตานีกำลังประสบปัญหาชุมชนกำลังอ่อนแอ เนื่องจากเกิดปัญหาความยากจน เกิดการอพยพย้ายถิ่น ซึ่งมีสาเหตุมากจากการทำลายป่าชายเลน ที่ถือว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลจำนวนมาก การลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำรอบอ่าวปัตตานีจากเรืออวนรุนอวนลาก และการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน และนากุ้ง ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่าจะส่งผลกระทบให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญในปัจจุบันและเกิดแล้วทั่วทุกมุมโลก
คณะแหลมทรายก่อตั้งโดย นายเจะปอ สะมอ ชาวประมงพื้นบ้านฝีปากล้า เปิดการแสดงไปยังชุมชนต่าง ๆ โดยนำเอาลิเกฮูลูมาเป็นแนวทางในการต่อสู้เรียกร้องในทุกภาคส่วนออกมาตระหนักถึงปัญหา ปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด เจะปอ และชาวคณะแหลมทรายตระเวนไปแสดงลิเกฮูลูให้ผู้คนรอบอ่าวปัตตานีฟังบทเพลงบอกเล่าถึงเรื่องราวสิ่งที่เกิดกับชีวิตรอบอ่าว เรื่องราวของของการรุกรานของเรืออวนรุนอวนลาก การบุกรุกป่าชายเลน การหายไปของปูปลาและสัตว์ทะเล การพลัดพรากจากบ้านเกิด การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร ฯลฯ การที่ลิเกฮูลูคณะแหลมทรายได้นำเอาภูมิปัญญาการละเล่นพื้นบ้านมาเป็นสื่อที่จะเข้าชาวบ้านรอบอ่าวปัตานีให้หัมาสนใจอนุรักษ์อ่าวปัตตานี โดยในการแสดงแต่ละครั้งแต่ละพื้นที่ เจะปอ ผู้ก่อตั้งคณะจะต้องศึกษาข้อมูลและปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นของแต่ชุมชนมาแต่งเป็นเนื้อร้องแล้วทำการแสดง นับว่าเป็นความชาญฉลาดของเจะปอที่นำเอาศิลปการละเล่นพื้นบ้านมาเป็นสื่อในการปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนหันมาช่วยกันอนุรักษ์ หวงแหนทรัพยากรทางทะเลที่ตนเองมี เป็นสื่อพื้นบ้านที่เข้าถึงคนในชุมชนชาวไทยมุสลิมได้ดีที่สุด
ลิเกฮูลู เป็นศิลปะการแสดงซึ่งในอดีตเป็นที่นิยมมากที่สุดประเภทหนึ่ง ในพื้นที่ ๓ จังหวัด ๔ อำเภอชายแดนใต้ รวมทั้งแพร่หลายในรัฐทางเหนือของมาเลเซีย เช่น กลันตัน ตรังกานู และเปรัก อีกด้วย ลิเกฮูลูเป็นรูปแบบศิลปะการแสดงที่ใช้ทั้งเครื่องดนตรีพื้นบ้าน บทขับ และบทโต้วาที อย่างกลอนสดที่เรียกว่า กลอนปันคุน โดยมีคณะคู่รับตั้งวงประชันกัน โดยต่างฝ่ายต่างผลัดกันโต้ตอบในรอบของตน บางครั้งก็เว้าวอนด้วยบทเพลงอันหวานระรื่นหู และโต้วาทีแก้กันด้วยคารมอันคมคายเผ็ดร้อนอย่างน่าดูชม สันนิษฐานว่าทั้งคำว่าดิเกและลิเก ล้วนมีที่มาจากคำว่า “ดิเกร์” (dikir) ในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเลื่อนมาจากคำว่า ซิเกร์ (zikie or zikr) อีกทีหนึ่ง คำเต็ม ๆ ของคำว่า ซิเกร์ คือ ซิกรุลเลาะห์ (Zikr-u-Allah) หมายถึงการภาวนาพระนามของพระอัลเลาะห์ ซึ่งภายหลังพวกเปอร์เว๊ย (อิหร่าน) เรียเพี้ยนเป็น ดิเกร์ หมายถึง การอ่านทำนองเสนาะในเพลงสวดเพื่อสรรเสริญพระเจ้า
เป็นเวลากว่าสิบปีมาแล้วที่เจะปอและชาวคณะแหลมทรายตระเวนไปแสดงลิเกฮูลูให้ผู้คนที่อยู่รอบอ่าวปัตตานีฟัง บทเพลงบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดกับชีวิตรอบอ่าว เรื่องราวของการรุกรานของเรืออวนรุนอวนลาก การบุกรุกป่าชายเลน การหายไปของปูปลาและสัตว์ทะเล การพลัดพรากจากบ้านเกิด กาต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร ฯลฯ ที่ผ่านมามีชุมชนจำนวนมากลุกขึ้นมาปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นของตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ บ้างอาศัยความเชื่อ จารีต ประเพณีดั่งเดิม บ้างอาศัยกลุ่มเยาวชน หรือไม่ก็พึ่งพาองค์กรพัฒนาจากภายนอกชุมชนช่วยสนับสนุนปี ๒๕๓๕ จึงเกิดเป็นลิเกฮูลูคณะแหลมทราย ก่อตั้งโดย นายเจะปอ สะมอ เริ่มต้นจากการรวมตัวกันตั้งคณะลิเกฮูลู ที่ชื่อคณะแหลมทราย จังหวัดปัตตานี โดยการแสดงจะมีเนื้อหาที่กล่าวถึงวิถีชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่ง เช่นปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตแต่ละวันของชุมชนชาวประมงรอบอ่าวปัตตานี
เจะปอ เชื่อมั่นว่า ลิเกฮูลูจะเป็นสื่อที่ทำให้คนรอบอ่าวปัตตานีตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถ “ส่งสาร” ผ่านบทเพลงไปถึงเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภายนอกได้ คณะลิเกแหลมทราย ตระเวนเดินสายไปเปิดการแสดงให้กับพี่น้องรอบอ่าวปัตตานีฟัง โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ เนื้อเพลงของ “ลิเกฮูลู” ที่ขับร้องในแต่ละครั้งนั้น จะแต่งขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวของแต่ละชุมชนที่ไปแสดง เนื้อหาสะท้อนให้เห็นภาพชุมชนนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในชุมชนหรือสิ่งดี ๆ ในชุมชนที่ควรรักษา ดังนั้นก่อนเปิดการแสดงทุกครั้ง เจะปอจะศึกษาข้อมูลชุมชนนั้นก่อน แล้วนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแต่งเป็นบทเพลงที่จะใช้ในวันแสดงจริง
การแสดงลิเกฮูลู แบ่งเป็น ๓ ช่วง คือ
ช่วงที่ ๑ เรียกว่า มาแต หรือ การเริ่มต้นการแสดง มีการสวัสดี ทักทาย กับผู้ชม ฝากเนื้ฝากตัว ปิดท้ายด้วยการขออภัยล่วงหน้าในข้อผิดพลาด ล่วงเกินที่จะเกิดระหว่างการแสดง
ช่วงที่ ๒ เป็นการแสดงประกอบด้วย ๔ เพลง ที่แต่งโดยเครื่อข่ายอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมรอบอ่าวปัตตานี คือ ความสำคัญของอ่าวปัตตานี อนุรักษ์รอบอ่าวและชายฝั่ง ความเห็นแก่ตัวคนละชั้น และฟื้นฟูทะเลบ้านเรา ทั้ง ๔ เพลงขับร้องเป็นภาษายาวี
ช่วงที่ ๓ เรียกว่า งาโระ เป็นการโต้วาทีเรื่องอ่าวปัตตานี แบ่งเป็น ๗ ช่วง คือ ๑. การนำเสนอ ๒. อย่าทำลายทรัพยากร ๓. พี่น้องมาช่วยด้วย ๔. ฟื้นฟูอย่างไร ๕. ผลกระทบ ๖. แก้ปัญหาอย่างไร ๗. ใครเป็นคนแก้ปัญหา
ผลของความตั้งใจ
ในปี ๒๕๓๖ โครงการวิจัยพื้นที่ชุมน้ำได้สนับสนุนการทำกิจกรรมฟื้นฟูอ่าวปัตตานีโดยการไปปักหอยที่แหลมปู สร้างกติกาใหม่ในชุมชน เพื่อป้องกันมี่ให้อวนรุนอวนลากเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน กระบวนการรวมกลุ่มของชุมชนบ้านบางตาวาจึงเกิดขึ้นจากบทเพลงลิเกฮูลูนี้เอง
เมื่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมของอ่าวปัตตานีเสื่อมโทรมเกินกว่ากำลังของชาวประมงพื้นบ้านบ้านบางตาวาจะฟื้นฟูได้ “เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี” จึงเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของชุมชนรอบอ่าวปัตตานีที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับบ้านบางตาวา พวกเขาได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาจากการตระหนักถึงความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับชุมชนในสภาวะที่ขาดแหล่งทรัพยากรทางทะเล
ชาวท่ากำซำแก้ปัญหาโดยการฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อให้ผืนป่าที่ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นที่กำบังกันคลื่นลมซึ่งมากระทบกับหมู่บ้าน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน จนกระทั่งสัตว์น้ำเริ่มชุกชุม ชาวประมงพื้นบ้านสามารถพึ่งพาทรัพยากรในท้องทะเลได้อีกครั้ง
ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่อยุ่รอบ ๆ อ่าวเริ่มมีการรวมกลุ่มกันเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรชายฝั่งอ่าวปัตตานีมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ แล้ว พัฒนามาเป็น “เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี” ในที่สุด ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ ๓,๐๐คน ใน ๑๓ หมู่บ้าน รอบอ่าวปัตตานี ชายฝั่งทะเลจังหวัดปัตตานี แม่น้ำยะหริ่ง และเขตป่าสันทราย นอกจากนี้ยังได้ขยายไปสู่เพื่อนร่วมสุขและทุกข์อีกประมาณ ๑๓ หมู่บ้านในเขตลุ่มน้ำสายบุรี ในนาม “องค์กรชาวบ้านพิทักษ์ลุ่มน้ำสายบุรี” โดยมีโครงการวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นที่ปรึกษา
เป็นเวลากว่า ๒๐ ปีมาแล้ว ที่ลิเกฮูลูคณะแหลมทรายตระเวนเปิดการแสดงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวและความเป็นไปในชุมชนรอบอ่าวปัตตานี การรุกรานของเรืออวนรุนอวนลาก การบุกรุกป่าชายเลน การหายไปของปูปลาและสัตว์ทะเล การพลัดพรากจากบ้านเกิด การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพทยากร ฯลฯ เนื้อหาในบทเพลงแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ จากเรื่องหนึ่งสู่เรื่องหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วก็คือเจตนาที่จะรักษาสิ่งดีให้อยู่คู่กับบ้านเกิด
ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้า จะมีอะไรที่ “สื่อ” เข้าไปถึงจิตใจของคนมุสลิมได้ดีเท่ากับ “สื่อพื้นบ้าน” ชนิดนี้ (เจะปอ สะมอ,หัวหน้าลิเกฮูลูคณะแหลมทราย)
ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คุณค่าทางปัญญาและจรรโลงจิตใจของประชาชนทุกระดับ จึงไม่แปลกที่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนอย่างเหลือล้นในทุกยุคทุกสมัย กล่าวได้ว่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมีสถานะที่แน่นอน และไม่อาจประมาณค่าได้ ภายหลังมันถูกพิสูจน์ผ่านกาลเวลามาได้ช่วหนึ่ง ซึ่งอาจไม่น้อยกว่ากึ่งศตวรรษหรือมากกว่านับตั้งแต่ได้กำเนินมา ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นทั้งรากเหล้าและลมหายใจของชีวิตผู้คนในแต่ละท้องถิ่น
ลิเกฮูลูก็เช่นเดียวกัน เป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่าของชาวไทยมุสลิม และสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้สึก นับเป็นเป็นความชาญฉลาดของคณะแหลมทรายที่นำภูมิปัญญาการละเล่นพื้นบ้านชนิดนี้มาเป็นสื่อในการปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีหันมาสนใจร่วมกันอนุรักษ์อ่าวปัตตานีให้คงอยู่สืบไป ร่วมกันตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น การแสดงลิเกฮูลูคณะแหลมทรายไม่ได้เป็นเพียงแต่การละเล่นเพื่อความสนุกสนานของชาวบ้านเท่านั้น การแสดงของพวกเขายังแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในธรรมชาติที่อยู่เกื้อกูลพวกเขามาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ แล้วพวกเขาก็ยังอยากจะให้มรดกอันล้ำค่าชิ้นนี้ตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน พร้อมกับปลูกจิตสำนึกให้ลูกหลานรอบอ่าวปัตตานีร่วมใจกันรักและหวงแหนสมบัติอันล้ำค่าชิ้นนี้อีกด้วย การรักษาอ่าวปัตตานีไม่เป็นเพียงแต่รักษาทรัพยากรทางทะเลของไทยเอาไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการลดวิกฤติภาวะลดโลกร้อนซึ่งกำลังเป็นปัญหาหนักอยู่ในปัจจุบัน สถานที่สำคัญ ๆ ต่างในโลกใบนี้กำลังประสบปัญหากับภาวะโลกร้อนแล้วกำลังจะสูญหายไปจากแผนที่โลก นับว่าเป็นความชาญฉลาดของคนไทยที่นำศิลปการละเล่นพื้นบ้านมาเป็นสื่อในการอนุรักษ์อ่าวปัตตานีให้คงอยู่สมบูรณ์ แน่นอนมันไม่อาจจะทำให้อ่าวปัตตานีกลับไปเป็นดังเดิมเหมือนในอดีต แต่อย่างน้อยก็ได้สร้างจิตสำนึกให้รักในบ้านเกิดแล้วค่อย ๆ ร่วมใจกันอนุรักษ์อ่าวปัตตานีไว้ให้คงอยู่สืบไป อ่าวปัตตานีก็จะปรากฏอยู่ไม่เลือนหายไปจากแผนที่โลก แทบจะไม่น่าเชือเลยว่าสื่อพื้นบ้านจะสามารถเข้าถึงชาวบ้านและสามารถรักษาอ่าวปัตตานีไว้ให้เป็นมรดกตกทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้
ลิเกฮูลูจึงเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาไทย ที่คนไทยเองได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน โดยนำการแสดงลิเกฮูลูมาเป็นสื่อในการเข้าถึงชาวบ้านให้ร่วมแรงร่วมใจในการอุนรักษ์รักษาอ่าวปัตตานี ถ้าเรารักษาอ่าวปัตตานีไว้ได้ อย่างน้อยก็จะสามารถลดภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ได้ไม่มากก็น้อย นับว่าเป็นภูมิปัญญาไทยที่ใส่ใจโลกร้อนอีกอย่างหนึ่ง
18 ตุลาคม 2552
ชุมชนบ้านบาตร อีกหนึ่งอาชีพที่กำลังจะสูญหาย
กรุงเทพมหาครหรือเมืองบางกอกในอดีตเดิมเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย มีชุมชุนอาชีพต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตปัจจัยสำคัญในการครองชีพอยู่ทั่วไป ตั้งแต่ชุมชนชาวสวน ชาวนา จนถึงชุมชนช่าง หรือหมู่บ้านหัตถกรรมต่างๆ อยู่หลายหมู่บ้าน ซึ่งยังปรากฏชื่อตามหมู่บ้านที่บ่งบอกประเภทของหัตถกรรมประจำหมู่บ้านสืบมาจนถึงปัจจุบัน เช่น บ้านบาตร บ้านดอกไม้ บ้านพานถม บ้านตีทอง บ้านหม้อ บ้านช่างหล่อ บ้านบุ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหมู่บ้านหัตถกรรมเหล่านี้ในปัจจุบันเหลือเพียงชื่อเสียงเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีการทำงานตามหัตถกรรมตามชื่อของหมู่บ้านอีกแล้ว จะยังมีการทำหัตถกรรมหรือประกอบอาชีพตามชื่อของหมู่บ้านเพียงไม่กี่แห่ง
ในจำนวนชุมชนบ้านช่างในเกาะรัตนโกสินทร์อันเป็นงานช่างฝีมือหลายอย่างที่เคยปรากฎมาตั้งแต่สร้างเมืองหลวงใหม่ๆ พากันทยอยหายไปจากสังคมเมืองหลวงกันหมดแล้ว กระนั้นก็ตามนับว่ายังโชคดีที่ยังพอมีชุมชนช่างที่เหลืองานพอสืบทอดพอให้เห็นมาจถึงปัจจุบันนี้ นั้นก็คือ ชุมชนบ้านบาตร ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
บาตรเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ในการออกบิณฑบาตร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ตักบาตรทำบุญกันในทุก ๆ เช้า และเป็นหนึ่งในของอัฐบริขารของพระภิกษุสงฆ์ อาชีพทำบาตรมาตั้งแต่เริ่มกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่ได้รังสรรค์ฝีมืออันประณีตในการทำเครื่องใช้สอยของพระภิกษุสงฆ์เพื่อออกบิณฑบาตร ปัจจุบันมีให้เห็นไม่มากนัก อยุ่ที่ชุมชนบ้านบาตร กรุงเทพมหานคร
จากการที่สังคมได้เริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม มีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการผลิตมากขึ้น ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่ละมากๆ เป็นการลดต้นทุนการผลิต ชุมชนบ้านบาตรก็ไม่สามารถหลีกพ้นจากกระแสของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตามยุคโลกาภิวัฒน์ สาเหตุที่ทำให้บาตรที่ทำด้วยฝีมือประณีต อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีบาตรปั๊มเข้ามาแทนที่ เมื่อราวปี พ.ศ. 2513 มีการตั้งโรงงานทำบาตรปั๊ม (บาตรที่ทำด้วยเครื่องจักร) หลายโรง บางโรงงานเป็นของพ่อค้าคนกลางที่เคยดำเนินกิจการทำเครื่องเหล็กมาก่อน เช่น ทำกระป๋อง ทำช้อน ฯลฯ แต่กิจการไม่ค่อยได้ผลกกำไรเท่าที่ควร จึงเพิ่มการทำบาตรปั๊มให้มีรายได้ดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่าเป็นการลดรายได้ของชาวบ้านบาตรให้เหลือน้อยลง เนื่องจากพ่อค้าคนกลางหันไปส่งบาตรปั๊มจำหน่ายมากขึ้น เพราะทางโรงงานมักจะให้เครดิตกับพ่อค้าคนกลางให้รับบาตรไปก่อนผ่อนจ่ายเงินที่หลัง และที่สำคัญคือจำหน่ายในราคาถูกกว่า บาตรปั๊มนั้นราคาถูกกว่าบาตรที่ทำด้วยมือครึ่งต่อครึ่ง เพราะทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ไม่ต้องผ่านขึ้นตอนยุ่งยากเหมือนบาตรปั๊มที่ทำด้วยมือ
เนื่องจากการก่อตั้งทำโรงงานทำบาตรแล้ว ยังมีปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้งานหัตถกรรมการทำบาตรของชุมชนบ้านบาตรจะเลือนหายจากสังคมไทยคือ “ปัญหาการสืบทอดวิชาช่างบาตรของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นลูกรุ่นหลานไม่สนใจที่จะรับการถ่ายทอดวิชาชีพการทำบาตร เพราะมีแนวคิด ความรู้สึกและวิธีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยแปลงไป สังคมในปัจจุบันเน้นความเจริญก้าวหน้าด้านวัตถุมากกว่าความเจริญทางด้านศีลธรรม คุณธรรม เห็นความสำคัญด้านอุตสาหกรรมมากกว่างานทางด้านหัตถกรรม จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าการทำงานบาตรเป็นงานที่ยาก ต้องใช้ความอดทน และที่สำคัญก็คือ รายได้ไม่พอกับการยังชีพ ประกอบกับการทำบาตรเป็นงานที่มีขั้นตอนมาก ในอดีตจะมีการสืบทอดให้กับลูกหลานในบ้านของตน แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันลูกหลานไม่มีความสนใจเท่าที่ควร อีกทั้งได้รับการศึกษาสูงขึ้นทำให้การหาอาชีพที่สบายกว่า รายได้ดีกว่า หรือมีเกียรติในมุมมองของชาวบ้าน จึงทำให้ผู้ที่สนใจการทำบาตรเป็นคนนอกชุมชนที่ต้องการอนุรักษ์บาตรให้คงอยู่ จึงมีการเปิดสอนที่สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็ไม่สนใจเท่าที่ควรจึงหยุดสอน จึงยังไม่มีการสืบทอดอย่างจริงจัง ช่างทุกคนล้วนเป็นลูกหลานปัจจุบันที่อายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี แล้ว และยังไม่มีคนรุ่นใหม่คนไหนที่ต้องการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ชาวบ้านบาตรผู้ซึ่งผลิตบาตรด้วยฝีมือประณีตที่ยังคงทวนกระแสสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มั่นคงนัก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ชุมชนบ้านบาตรในปัจจุบันซึ่งมีอยู่ประมาณ 136 หลังคาเรือน คงเหลือ 4-5 หลังคาเรือนเท่านั้นที่ยังคงยึดอาชีพทำบาตรอยู่ด้วย ปัญหาและอุปสรรคในการทำบาตรยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่าในอนาคตข้างหน้าที่บ้านบาตรจะยังคงมีการผลิตบาตรให้เห็นอยู่อีกหรือไม่ นับเป็นเรื่องน่าเสียดายหากชุมชนช่างบ้านบาตรซึ่งมีมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์จะหายไปจากสังคมเมืองหลวงเหมือนชุมชนบ้านอื่นๆ ที่ทิ้งชื่อไว้บนถนนหนทางว่าเคยมีชุมชนช่างเช่นนี้อยู่
จากการวิเคราะห์ของข้าพเจ้าอย่างกว้างๆ โดยอาศัยการศึกษาจากบทความจากหนังสือต่าง ๆ ตามรายการโทรทัศน์ และจากความรู้เบื้องต้นที่ผู้วิจัยมี จึงเห็นว่ากลุ่มทำบาตร ชุมชนบ้านบาตรจำเป็นต้องมีกระบวนการจัดการที่ดีในการดำเนินการอนุรักษ์หัตถกรรมการทำบาตรของชุมชนบ้านบาตร โดยมีกลยุทธ์การจัดการที่ดีที่เหมาะสมกับชุมชน มุ่งหาแนวทางในการแก้ใขทางด้านกลยุทธ์ด้านต่างๆ เช่น ด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ และต้องได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย มุ่งเน้นจัดการด้านกำลังการผลิตเพื่อให้มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะมีการปิดโรงงานบาตรปั๊มแล้ว แต่ก็ยังมีการลักลอบผลิตอยู่แล้วออกส่งขายตามที่ต่างๆ มุ่งบริหารจัดการให้เป็นอาชีพที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันได้ ที่สำคัญควรหาแนวทางในการอนุรักษ์แบบยั่งยืนเพื่อให้อาชีพการทำบาตรได้รับการสืบทอดต่อไปในอนาคตเพื่อมิให้สูญหายไปจากสังคม ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนในชุมชนให้มีความรักและภูมิใจในอาชีพการทำบาตร เพราะเป็นศิลปะชิ้นเอกที่บรรพบุรุษของคนในชุมชนของตนได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นมรดกตกทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ส่งเสริมให้หัตถกรรมศาสตร์แขนงนี้มีอยู่สืบต่อไปไม่เพียงแต่คนในชุมชนเท่านั้น รวมไปถึงเยาวชน คนนอกชุมชน บุคลคลทั่วไปที่สนใจ และกระจายศาสตร์ความรู้แขนงนี้ไปยังชุมชนต่างๆ ทั้งนี้ต้องได้รับการร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนอีกด้วย
เราต้องช่วยกันอนุรักษ์อาชีพที่มีคุณค่าชิ้นนี้เอาไว้ เพราะมันคือภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่ได้สร้างสรรค์ไว้และต้องการสืบทอดต่อจากรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นรากเหง้าของความเป็นไทยเป็นวัฒนธรรมไทยที่มีมาช้านาน เป็นความเข้มแข็งของชาติที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เราเองในฐานะชาวไทยต้องช่วยกันอนุรักษ์อาชีพการทำบาตรเอาไว้ อย่าให้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันเอาชนะความเป็นชาติของเราได้
ชุมชนบ้านบาตร เป็นชุมชนที่อยู่กลางกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างถนนบำรุงเมือง ถนนบริพัตร และถนนวรจักร เป็นซอยเล็กๆ สามารถเดินทะลุถนนใหญ่ทั้งสามดังกล่าวข้างต้นได้ ชุมชนบ้านบาตรอยู่ในพื้นที่แขวงสำราญราษฎร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ชุมชนที่อยุ่ทางด้านเหนือคือ ชุมชนบ้านดอกไม้ ชุมชนที่อยู่ทางใต้คือ ชุมชนวัดสระเกศ เป็นชุมชนที่มีการทำบาตรพระในปัจจุบัน
บาตร หรือบาตรพระ ตรงกับภาษาบาลี “ปตตํ” (วิทย์ พิณคันเงิน, 2508: 56) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Arm bowl (ปิ่น มุทุกันต์, 2508: 81) บาตร หมายถึง
-ภาชนะสำหรับอาหารของนักบวช (มหาวีรวงศ์, 2515: 15)
-ภาชนะหนิดหนึ่งสำหรับพระภิกษุ สามาเณรใช้รับอาหารบิณฑบาตร (ราชบัณฑิตยสถาน, 2525: 78)
-ภาชนะของนักบวชสำหรับรับอาหาร เป็นอย่างหนึ่งในบริขาร 8 ของภิกษุ (พระเทพเทวี, 2525: 78)
สรุป บาตร หมายถึง ภาชนะสำรับใส่อาหารของนักบวชเวลาออกบิณฑบาต
17 ตุลาคม 2552
ไหว้เพื่อการทักทาย วัฒนธรรมไทยที่คนทั้งโลกไม่รู้ลืม
สวัสดีครับ บทความขอเริ่มต้นด้วยการทักทายแบบไทย ๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประจำชาติของประเทศไทยเรากันก่อนนะครับ กับวัฒนธรรม "ไหว้" การไหว้เพื่อการทักทายกลายเป็นสัญลักษณ์ของไทยที่ไม่ว่าชาวต่างชาติประเทศไหนเมือได้เข้ามาในเมืองไทยแล้วต่างก็มีความสนใจในวัฒนธรรมการทักทายแบบไทยๆ ด้วยกันทั้งนั้น ชาวต่างชาติส่วนมากเลือกที่จะ "ไหว้" แล้วกล่าวคำทักทาย "สวัสดีครับ/คะ" กับคนไทยเมื่อพวกเหล่านั้นได้เข้ามาสัมผัสในประเทศไทย ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม จากประสบการณ์ของตัวผมเอง ซึ่งเป็นพนักงานต้อนรับส่วนหน้าของโรงแรมแห่งหนึ่ง สามารถสัมผัสได้ว่าชาวต่างชาติทั้งหลายเลือกที่จะกล่าวคำว่า "สวัสดีครับ/คะ" แล้วยกมือไหว้ กับผมด้วยกันทั้งนั้นเมื่อผมได้กล่าวคำทักทายแล้วแสดงกริยาแบบนั้นออกไปก่อนเพื่อแสดงถึงการต้อนรับ พวกเขาเหล่านั้นต่างมีความสนใจในท่าทางและความหมายในวัฒนธรรมไทยที่มีมาช้านานในการทักทายกัน แล้วก็มีไม่น้อยที่ต่างถามถึงความหมายพร้อมทั้งช่วยสอนทั้งพูดและท่าทางเพื่อนำไปใช้กับคนไทยในสถานที่ต่อ ๆ ไปตลอดระยะเวลาที่พวกเขาได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่เมืองไทย ส่วนที่มาในการเริ่มใช้คำว่า "สวัสดี" ในการทักทายแบบไทย นั้น
ความหมาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525 สวัสดี หมายถึงความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง คำทักทายหรือพูดขึ้นเมื่อพบหรือจากกัน
สวัสดี ในส่วนที่นำมาใช้เป็นคำทักทายนั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าถึงต้นเหตุเดิมไว้ว่าเจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงได้ใช้คำ "ราตรีสวัสดิ์" ลงท้ายคำพูดเมื่อจบการกระจายเสียงตอนกลางคืนโดยอนุโลมตามคำว่ากู๊ดไนต์ (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีผู้ไม่เห็นด้วย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง จึงขอให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้นช่วยคิดหาคำให้ ตกลงได้คำว่า"สวัสดี" ไปใช้และเมื่อ พ.ศ. 2476 พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้นำไปเผยแพร่ให้นิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นคำทักทายเมื่อพบกัน จึงได้แพร่หลายใช้กันต่อมา
ครั้นต่อมาในยุคบำรุงวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ รัฐบาลในสมัยนั้นก็เห็นชอบกับการใช้คำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่ได้พบกัน ได้มอบให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ออกข่าวประกาศเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 ดังต่อไปนี้ (ตัวสะกดและการันต์ในสมัยนั้น)
"ด้วยพนะท่านนายกรัถมนตรีได้พิจารนาเห็นว่าเพื่อเปนการส่งเสริมเกียรติแก่ตนและแก่ชาติ ให้สมกับที่เราได้รับความยกย่องว่าคนไทยเปนอารยะชน คำพูดจึงเปนสิ่งหนึ่งที่สแดงภูมิของจิตใจว่าสูงต่ำเพียงใด ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้กำชับบันดาข้าราชการทุกคนกล่าวคำ "สวัสดี"ต่อกันไนโอกาสที่พบกันครั้งแรกของวันเพื่อเป็นการผูกไมตรีต่อกัน และฝึกนิสัยไห้กล่าวแต่คำที่เปนมงคล ว่าอะไรว่าตามกัน กับขอไห้ข้าราชการช่วยแนะนำแก่ผู้ที่อยู่ไนครอบครัวของตนไห้รู้จักกล่าวคำ "สวัสดี" เช่นเดียวกันด้วย "
นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ทางราชการในสมัยนั้นได้กำหนดให้ใช้คำว่า สวัสดี ไว้แล้วตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๖
แต่ปัจจุบันนี้เยาวชนไทยเมื่อพบกันแทนที่จะใช้คำว่า "สวัสดี" กลับนำเอาคำผรุสวาทมาใช้แทน ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นมงคลแก่ตนเองทั้งสิ้น นับเป็นความเสื่อมทางวัฒนธรรมด้านภาษาและจิตใจอย่างมากที่สุด
ในปัจจุบันนี้มีชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก ได้พยายามยกมือไหว้และกล่าวคำว่า "สวัสดี-Sawasdee " เพราะเข้าใจวัฒนธรรมของไทยดีขึ้น นับเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยได้ประการหนึ่ง คำว่า สวัสดี ได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นคำของ "ชาตินิยม" เป็นวัฒนธรรม อันหยั่งรากฝังลึกลงในจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ อากัปกิริยาของการ "สวัสดี" ผนวกกับ ความมีน้ำใจไมตรีของคนไทย และรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ ทำให้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำที่มีความหมายมากมายนัก คนไทยควรจะมาร่วมกันดำรงความเป็น "ไทย"ด้วยรอยยิ้มแจ่มใสและคำทักทาย "สวัสดีค่ะ " "สวัสดีครับ "
ที่มา : http://www.culture.go.th/oncc/knowledge/vid/teacher/file01.htm
ทักทายแบบไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นการทักทายอีกแบบหนึ่งที่เทียบเท่าการทักทายแบบสากล เพราะเป็นที่รู้จักและยอมรับในนานาชาติแล้วว่าเป็นวัฒนธรรมที่สวยงาม เห็นได้จากการประกวดเวทีขาอ่อนในเวทีโลก สาวไทยก็เลือกที่จะไหว้แล้วกล่าวคำว่าสวัสดีก่อนทุกครั้ง เป็นการแสดงออกที่สื่อความเป็นไทยให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ว่าเรามีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เห็นอยากนี้แล้วอดปลื้มใจไม่ได้เลยนะครับที่เรามีวัฒนธรรมในการทักทายเป็นของเราเอง แล้วคนไทยเองละครับเลือกที่จะทักทายคนไทยด้วยกันเองด้วยการไหว้และสวัสดีด้วยหรือเปล่า อย่างน้อยเริ่มพูดคำว่า "สวัสดี" ในการรับโทรศัพท์ แทนคำว่า "ฮัลโล" เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม แล้วสุดท้ายก่อนจากกันผมก็ต้องขอกล่าวคำว่า "สวัสดีครับ"
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)