17 ตุลาคม 2552

ไหว้เพื่อการทักทาย วัฒนธรรมไทยที่คนทั้งโลกไม่รู้ลืม


สวัสดีครับ บทความขอเริ่มต้นด้วยการทักทายแบบไทย ๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประจำชาติของประเทศไทยเรากันก่อนนะครับ กับวัฒนธรรม "ไหว้" การไหว้เพื่อการทักทายกลายเป็นสัญลักษณ์ของไทยที่ไม่ว่าชาวต่างชาติประเทศไหนเมือได้เข้ามาในเมืองไทยแล้วต่างก็มีความสนใจในวัฒนธรรมการทักทายแบบไทยๆ ด้วยกันทั้งนั้น ชาวต่างชาติส่วนมากเลือกที่จะ "ไหว้" แล้วกล่าวคำทักทาย "สวัสดีครับ/คะ" กับคนไทยเมื่อพวกเหล่านั้นได้เข้ามาสัมผัสในประเทศไทย ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม จากประสบการณ์ของตัวผมเอง ซึ่งเป็นพนักงานต้อนรับส่วนหน้าของโรงแรมแห่งหนึ่ง สามารถสัมผัสได้ว่าชาวต่างชาติทั้งหลายเลือกที่จะกล่าวคำว่า "สวัสดีครับ/คะ" แล้วยกมือไหว้ กับผมด้วยกันทั้งนั้นเมื่อผมได้กล่าวคำทักทายแล้วแสดงกริยาแบบนั้นออกไปก่อนเพื่อแสดงถึงการต้อนรับ พวกเขาเหล่านั้นต่างมีความสนใจในท่าทางและความหมายในวัฒนธรรมไทยที่มีมาช้านานในการทักทายกัน แล้วก็มีไม่น้อยที่ต่างถามถึงความหมายพร้อมทั้งช่วยสอนทั้งพูดและท่าทางเพื่อนำไปใช้กับคนไทยในสถานที่ต่อ ๆ ไปตลอดระยะเวลาที่พวกเขาได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่เมืองไทย ส่วนที่มาในการเริ่มใช้คำว่า "สวัสดี" ในการทักทายแบบไทย นั้น

ความหมาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525 สวัสดี หมายถึงความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง คำทักทายหรือพูดขึ้นเมื่อพบหรือจากกัน

สวัสดี ในส่วนที่นำมาใช้เป็นคำทักทายนั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าถึงต้นเหตุเดิมไว้ว่าเจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงได้ใช้คำ "ราตรีสวัสดิ์" ลงท้ายคำพูดเมื่อจบการกระจายเสียงตอนกลางคืนโดยอนุโลมตามคำว่ากู๊ดไนต์ (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีผู้ไม่เห็นด้วย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง จึงขอให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้นช่วยคิดหาคำให้ ตกลงได้คำว่า"สวัสดี" ไปใช้และเมื่อ พ.ศ. 2476 พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้นำไปเผยแพร่ให้นิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นคำทักทายเมื่อพบกัน จึงได้แพร่หลายใช้กันต่อมา

ครั้นต่อมาในยุคบำรุงวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ รัฐบาลในสมัยนั้นก็เห็นชอบกับการใช้คำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่ได้พบกัน ได้มอบให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ออกข่าวประกาศเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 ดังต่อไปนี้ (ตัวสะกดและการันต์ในสมัยนั้น)

"ด้วยพนะท่านนายกรัถมนตรีได้พิจารนาเห็นว่าเพื่อเปนการส่งเสริมเกียรติแก่ตนและแก่ชาติ ให้สมกับที่เราได้รับความยกย่องว่าคนไทยเปนอารยะชน คำพูดจึงเปนสิ่งหนึ่งที่สแดงภูมิของจิตใจว่าสูงต่ำเพียงใด ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้กำชับบันดาข้าราชการทุกคนกล่าวคำ "สวัสดี"ต่อกันไนโอกาสที่พบกันครั้งแรกของวันเพื่อเป็นการผูกไมตรีต่อกัน และฝึกนิสัยไห้กล่าวแต่คำที่เปนมงคล ว่าอะไรว่าตามกัน กับขอไห้ข้าราชการช่วยแนะนำแก่ผู้ที่อยู่ไนครอบครัวของตนไห้รู้จักกล่าวคำ "สวัสดี" เช่นเดียวกันด้วย "

นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ทางราชการในสมัยนั้นได้กำหนดให้ใช้คำว่า สวัสดี ไว้แล้วตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๖

แต่ปัจจุบันนี้เยาวชนไทยเมื่อพบกันแทนที่จะใช้คำว่า "สวัสดี" กลับนำเอาคำผรุสวาทมาใช้แทน ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นมงคลแก่ตนเองทั้งสิ้น นับเป็นความเสื่อมทางวัฒนธรรมด้านภาษาและจิตใจอย่างมากที่สุด

ในปัจจุบันนี้มีชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก ได้พยายามยกมือไหว้และกล่าวคำว่า "สวัสดี-Sawasdee " เพราะเข้าใจวัฒนธรรมของไทยดีขึ้น นับเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยได้ประการหนึ่ง คำว่า สวัสดี ได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นคำของ "ชาตินิยม" เป็นวัฒนธรรม อันหยั่งรากฝังลึกลงในจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ อากัปกิริยาของการ "สวัสดี" ผนวกกับ ความมีน้ำใจไมตรีของคนไทย และรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ ทำให้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำที่มีความหมายมากมายนัก คนไทยควรจะมาร่วมกันดำรงความเป็น "ไทย"ด้วยรอยยิ้มแจ่มใสและคำทักทาย "สวัสดีค่ะ " "สวัสดีครับ "
ที่มา : http://www.culture.go.th/oncc/knowledge/vid/teacher/file01.htm
ทักทายแบบไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นการทักทายอีกแบบหนึ่งที่เทียบเท่าการทักทายแบบสากล เพราะเป็นที่รู้จักและยอมรับในนานาชาติแล้วว่าเป็นวัฒนธรรมที่สวยงาม เห็นได้จากการประกวดเวทีขาอ่อนในเวทีโลก สาวไทยก็เลือกที่จะไหว้แล้วกล่าวคำว่าสวัสดีก่อนทุกครั้ง เป็นการแสดงออกที่สื่อความเป็นไทยให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ว่าเรามีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เห็นอยากนี้แล้วอดปลื้มใจไม่ได้เลยนะครับที่เรามีวัฒนธรรมในการทักทายเป็นของเราเอง แล้วคนไทยเองละครับเลือกที่จะทักทายคนไทยด้วยกันเองด้วยการไหว้และสวัสดีด้วยหรือเปล่า อย่างน้อยเริ่มพูดคำว่า "สวัสดี" ในการรับโทรศัพท์ แทนคำว่า "ฮัลโล" เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม แล้วสุดท้ายก่อนจากกันผมก็ต้องขอกล่าวคำว่า "สวัสดีครับ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น