26 ตุลาคม 2552

ภูมิปัญญาไทยใส่ใจโลกร้อน ลิเกฮูลูคณะแหลมทรายฟื้นฟูอ่าวปัตตานี



จังหวัดปัตตานีเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญมาช้านาน เพราะพื้นที่ส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวยื่นออกไปในทะเล เรียกว่า “อ่าวปัตตานี” เป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม นิเวศน์วิทยา ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในด้านนิเวศน์วิทยาถือว่าเป็นอ่าวที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพสูงแห่งหนึ่งของโลก จึงได้รับขึ้นบัญชีเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขังชายฝั่งทะเล ที่ควรแก่การอนุรักษ์ธรรมชาติ และทรัพยากรแห่งโลก และเนื่องจากอ่าวปัตตานีได้พัดพาเอาแร่ธาตุและตะกอนทำให้เกิดเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต จึงทำให้บริเวณอ่าวปัตตานีนั้นมีสัตว์น้ำและสัตว์หน้าดินเป็นจำนวนมาก

ความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือเกิดขึ้นภายในระยะเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง ความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานีมีแนวโน้มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่มีการใช้อวนรุนอวนลาก มีโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนได้รับเป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษ การขยายท่าเทียบเรือเพื่อรองรับเรือประมงและการขยายตัวของนากุ้ง และการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง อ่าวปัตตานีจึงกลายเป็นแหล่งรองรับและบ่อบำบัดตามธรรมชาติ แต่คงมีศักยภาพเป็นบ่อบำบัดได้เพียงในระดับหนึ่ง ถ้าไม่มีการเฝ้าระวังและการจัดการที่ดีเพื่อรักษาอ่าวปัตตานีให้คงสภาพเดิม ก็จะมีผลเสียด้านนิเวศน์และต่อผู้มีอาชีพประมง รวมทั้งธุรกิจนากุ้งและอุตสาหกรรมทุกประเภท



ชุมชนรอบอ่าวปัตตานีกำลังประสบปัญหาชุมชนกำลังอ่อนแอ เนื่องจากเกิดปัญหาความยากจน เกิดการอพยพย้ายถิ่น ซึ่งมีสาเหตุมากจากการทำลายป่าชายเลน ที่ถือว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลจำนวนมาก การลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำรอบอ่าวปัตตานีจากเรืออวนรุนอวนลาก และการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน และนากุ้ง ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่าจะส่งผลกระทบให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญในปัจจุบันและเกิดแล้วทั่วทุกมุมโลก

คณะแหลมทรายก่อตั้งโดย นายเจะปอ สะมอ ชาวประมงพื้นบ้านฝีปากล้า เปิดการแสดงไปยังชุมชนต่าง ๆ โดยนำเอาลิเกฮูลูมาเป็นแนวทางในการต่อสู้เรียกร้องในทุกภาคส่วนออกมาตระหนักถึงปัญหา ปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด เจะปอ และชาวคณะแหลมทรายตระเวนไปแสดงลิเกฮูลูให้ผู้คนรอบอ่าวปัตตานีฟังบทเพลงบอกเล่าถึงเรื่องราวสิ่งที่เกิดกับชีวิตรอบอ่าว เรื่องราวของของการรุกรานของเรืออวนรุนอวนลาก การบุกรุกป่าชายเลน การหายไปของปูปลาและสัตว์ทะเล การพลัดพรากจากบ้านเกิด การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร ฯลฯ การที่ลิเกฮูลูคณะแหลมทรายได้นำเอาภูมิปัญญาการละเล่นพื้นบ้านมาเป็นสื่อที่จะเข้าชาวบ้านรอบอ่าวปัตานีให้หัมาสนใจอนุรักษ์อ่าวปัตตานี โดยในการแสดงแต่ละครั้งแต่ละพื้นที่ เจะปอ ผู้ก่อตั้งคณะจะต้องศึกษาข้อมูลและปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นของแต่ชุมชนมาแต่งเป็นเนื้อร้องแล้วทำการแสดง นับว่าเป็นความชาญฉลาดของเจะปอที่นำเอาศิลปการละเล่นพื้นบ้านมาเป็นสื่อในการปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนหันมาช่วยกันอนุรักษ์ หวงแหนทรัพยากรทางทะเลที่ตนเองมี เป็นสื่อพื้นบ้านที่เข้าถึงคนในชุมชนชาวไทยมุสลิมได้ดีที่สุด


ลิเกฮูลู เป็นศิลปะการแสดงซึ่งในอดีตเป็นที่นิยมมากที่สุดประเภทหนึ่ง ในพื้นที่ ๓ จังหวัด ๔ อำเภอชายแดนใต้ รวมทั้งแพร่หลายในรัฐทางเหนือของมาเลเซีย เช่น กลันตัน ตรังกานู และเปรัก อีกด้วย ลิเกฮูลูเป็นรูปแบบศิลปะการแสดงที่ใช้ทั้งเครื่องดนตรีพื้นบ้าน บทขับ และบทโต้วาที อย่างกลอนสดที่เรียกว่า กลอนปันคุน โดยมีคณะคู่รับตั้งวงประชันกัน โดยต่างฝ่ายต่างผลัดกันโต้ตอบในรอบของตน บางครั้งก็เว้าวอนด้วยบทเพลงอันหวานระรื่นหู และโต้วาทีแก้กันด้วยคารมอันคมคายเผ็ดร้อนอย่างน่าดูชม สันนิษฐานว่าทั้งคำว่าดิเกและลิเก ล้วนมีที่มาจากคำว่า “ดิเกร์” (dikir) ในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเลื่อนมาจากคำว่า ซิเกร์ (zikie or zikr) อีกทีหนึ่ง คำเต็ม ๆ ของคำว่า ซิเกร์ คือ ซิกรุลเลาะห์ (Zikr-u-Allah) หมายถึงการภาวนาพระนามของพระอัลเลาะห์ ซึ่งภายหลังพวกเปอร์เว๊ย (อิหร่าน) เรียเพี้ยนเป็น ดิเกร์ หมายถึง การอ่านทำนองเสนาะในเพลงสวดเพื่อสรรเสริญพระเจ้า

เป็นเวลากว่าสิบปีมาแล้วที่เจะปอและชาวคณะแหลมทรายตระเวนไปแสดงลิเกฮูลูให้ผู้คนที่อยู่รอบอ่าวปัตตานีฟัง บทเพลงบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดกับชีวิตรอบอ่าว เรื่องราวของการรุกรานของเรืออวนรุนอวนลาก การบุกรุกป่าชายเลน การหายไปของปูปลาและสัตว์ทะเล การพลัดพรากจากบ้านเกิด กาต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร ฯลฯ ที่ผ่านมามีชุมชนจำนวนมากลุกขึ้นมาปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นของตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ บ้างอาศัยความเชื่อ จารีต ประเพณีดั่งเดิม บ้างอาศัยกลุ่มเยาวชน หรือไม่ก็พึ่งพาองค์กรพัฒนาจากภายนอกชุมชนช่วยสนับสนุนปี ๒๕๓๕ จึงเกิดเป็นลิเกฮูลูคณะแหลมทราย ก่อตั้งโดย นายเจะปอ สะมอ เริ่มต้นจากการรวมตัวกันตั้งคณะลิเกฮูลู ที่ชื่อคณะแหลมทราย จังหวัดปัตตานี โดยการแสดงจะมีเนื้อหาที่กล่าวถึงวิถีชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่ง เช่นปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตแต่ละวันของชุมชนชาวประมงรอบอ่าวปัตตานี

เจะปอ เชื่อมั่นว่า ลิเกฮูลูจะเป็นสื่อที่ทำให้คนรอบอ่าวปัตตานีตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถ “ส่งสาร” ผ่านบทเพลงไปถึงเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภายนอกได้ คณะลิเกแหลมทราย ตระเวนเดินสายไปเปิดการแสดงให้กับพี่น้องรอบอ่าวปัตตานีฟัง โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ เนื้อเพลงของ “ลิเกฮูลู” ที่ขับร้องในแต่ละครั้งนั้น จะแต่งขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวของแต่ละชุมชนที่ไปแสดง เนื้อหาสะท้อนให้เห็นภาพชุมชนนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในชุมชนหรือสิ่งดี ๆ ในชุมชนที่ควรรักษา ดังนั้นก่อนเปิดการแสดงทุกครั้ง เจะปอจะศึกษาข้อมูลชุมชนนั้นก่อน แล้วนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแต่งเป็นบทเพลงที่จะใช้ในวันแสดงจริง





การแสดงลิเกฮูลู แบ่งเป็น ๓ ช่วง คือ
ช่วงที่ ๑ เรียกว่า มาแต หรือ การเริ่มต้นการแสดง มีการสวัสดี ทักทาย กับผู้ชม ฝากเนื้ฝากตัว ปิดท้ายด้วยการขออภัยล่วงหน้าในข้อผิดพลาด ล่วงเกินที่จะเกิดระหว่างการแสดง
ช่วงที่ ๒ เป็นการแสดงประกอบด้วย ๔ เพลง ที่แต่งโดยเครื่อข่ายอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมรอบอ่าวปัตตานี คือ ความสำคัญของอ่าวปัตตานี อนุรักษ์รอบอ่าวและชายฝั่ง ความเห็นแก่ตัวคนละชั้น และฟื้นฟูทะเลบ้านเรา ทั้ง ๔ เพลงขับร้องเป็นภาษายาวี
ช่วงที่ ๓ เรียกว่า งาโระ เป็นการโต้วาทีเรื่องอ่าวปัตตานี แบ่งเป็น ๗ ช่วง คือ ๑. การนำเสนอ ๒. อย่าทำลายทรัพยากร ๓. พี่น้องมาช่วยด้วย ๔. ฟื้นฟูอย่างไร ๕. ผลกระทบ ๖. แก้ปัญหาอย่างไร ๗. ใครเป็นคนแก้ปัญหา












ผลของความตั้งใจ
ในปี ๒๕๓๖ โครงการวิจัยพื้นที่ชุมน้ำได้สนับสนุนการทำกิจกรรมฟื้นฟูอ่าวปัตตานีโดยการไปปักหอยที่แหลมปู สร้างกติกาใหม่ในชุมชน เพื่อป้องกันมี่ให้อวนรุนอวนลากเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน กระบวนการรวมกลุ่มของชุมชนบ้านบางตาวาจึงเกิดขึ้นจากบทเพลงลิเกฮูลูนี้เอง

เมื่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมของอ่าวปัตตานีเสื่อมโทรมเกินกว่ากำลังของชาวประมงพื้นบ้านบ้านบางตาวาจะฟื้นฟูได้ “เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี” จึงเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของชุมชนรอบอ่าวปัตตานีที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับบ้านบางตาวา พวกเขาได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาจากการตระหนักถึงความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับชุมชนในสภาวะที่ขาดแหล่งทรัพยากรทางทะเล

ชาวท่ากำซำแก้ปัญหาโดยการฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อให้ผืนป่าที่ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นที่กำบังกันคลื่นลมซึ่งมากระทบกับหมู่บ้าน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน จนกระทั่งสัตว์น้ำเริ่มชุกชุม ชาวประมงพื้นบ้านสามารถพึ่งพาทรัพยากรในท้องทะเลได้อีกครั้ง


ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่อยุ่รอบ ๆ อ่าวเริ่มมีการรวมกลุ่มกันเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรชายฝั่งอ่าวปัตตานีมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ แล้ว พัฒนามาเป็น “เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี” ในที่สุด ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ ๓,๐๐คน ใน ๑๓ หมู่บ้าน รอบอ่าวปัตตานี ชายฝั่งทะเลจังหวัดปัตตานี แม่น้ำยะหริ่ง และเขตป่าสันทราย นอกจากนี้ยังได้ขยายไปสู่เพื่อนร่วมสุขและทุกข์อีกประมาณ ๑๓ หมู่บ้านในเขตลุ่มน้ำสายบุรี ในนาม “องค์กรชาวบ้านพิทักษ์ลุ่มน้ำสายบุรี” โดยมีโครงการวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นที่ปรึกษา

เป็นเวลากว่า ๒๐ ปีมาแล้ว ที่ลิเกฮูลูคณะแหลมทรายตระเวนเปิดการแสดงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวและความเป็นไปในชุมชนรอบอ่าวปัตตานี การรุกรานของเรืออวนรุนอวนลาก การบุกรุกป่าชายเลน การหายไปของปูปลาและสัตว์ทะเล การพลัดพรากจากบ้านเกิด การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพทยากร ฯลฯ เนื้อหาในบทเพลงแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ จากเรื่องหนึ่งสู่เรื่องหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วก็คือเจตนาที่จะรักษาสิ่งดีให้อยู่คู่กับบ้านเกิด

ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้า จะมีอะไรที่ “สื่อ” เข้าไปถึงจิตใจของคนมุสลิมได้ดีเท่ากับ “สื่อพื้นบ้าน” ชนิดนี้ (เจะปอ สะมอ,หัวหน้าลิเกฮูลูคณะแหลมทราย)

ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คุณค่าทางปัญญาและจรรโลงจิตใจของประชาชนทุกระดับ จึงไม่แปลกที่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนอย่างเหลือล้นในทุกยุคทุกสมัย กล่าวได้ว่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมีสถานะที่แน่นอน และไม่อาจประมาณค่าได้ ภายหลังมันถูกพิสูจน์ผ่านกาลเวลามาได้ช่วหนึ่ง ซึ่งอาจไม่น้อยกว่ากึ่งศตวรรษหรือมากกว่านับตั้งแต่ได้กำเนินมา ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นทั้งรากเหล้าและลมหายใจของชีวิตผู้คนในแต่ละท้องถิ่น

ลิเกฮูลูก็เช่นเดียวกัน เป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่าของชาวไทยมุสลิม และสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้สึก นับเป็นเป็นความชาญฉลาดของคณะแหลมทรายที่นำภูมิปัญญาการละเล่นพื้นบ้านชนิดนี้มาเป็นสื่อในการปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีหันมาสนใจร่วมกันอนุรักษ์อ่าวปัตตานีให้คงอยู่สืบไป ร่วมกันตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น การแสดงลิเกฮูลูคณะแหลมทรายไม่ได้เป็นเพียงแต่การละเล่นเพื่อความสนุกสนานของชาวบ้านเท่านั้น การแสดงของพวกเขายังแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในธรรมชาติที่อยู่เกื้อกูลพวกเขามาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ แล้วพวกเขาก็ยังอยากจะให้มรดกอันล้ำค่าชิ้นนี้ตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน พร้อมกับปลูกจิตสำนึกให้ลูกหลานรอบอ่าวปัตตานีร่วมใจกันรักและหวงแหนสมบัติอันล้ำค่าชิ้นนี้อีกด้วย การรักษาอ่าวปัตตานีไม่เป็นเพียงแต่รักษาทรัพยากรทางทะเลของไทยเอาไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการลดวิกฤติภาวะลดโลกร้อนซึ่งกำลังเป็นปัญหาหนักอยู่ในปัจจุบัน สถานที่สำคัญ ๆ ต่างในโลกใบนี้กำลังประสบปัญหากับภาวะโลกร้อนแล้วกำลังจะสูญหายไปจากแผนที่โลก นับว่าเป็นความชาญฉลาดของคนไทยที่นำศิลปการละเล่นพื้นบ้านมาเป็นสื่อในการอนุรักษ์อ่าวปัตตานีให้คงอยู่สมบูรณ์ แน่นอนมันไม่อาจจะทำให้อ่าวปัตตานีกลับไปเป็นดังเดิมเหมือนในอดีต แต่อย่างน้อยก็ได้สร้างจิตสำนึกให้รักในบ้านเกิดแล้วค่อย ๆ ร่วมใจกันอนุรักษ์อ่าวปัตตานีไว้ให้คงอยู่สืบไป อ่าวปัตตานีก็จะปรากฏอยู่ไม่เลือนหายไปจากแผนที่โลก แทบจะไม่น่าเชือเลยว่าสื่อพื้นบ้านจะสามารถเข้าถึงชาวบ้านและสามารถรักษาอ่าวปัตตานีไว้ให้เป็นมรดกตกทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้

ลิเกฮูลูจึงเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาไทย ที่คนไทยเองได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน โดยนำการแสดงลิเกฮูลูมาเป็นสื่อในการเข้าถึงชาวบ้านให้ร่วมแรงร่วมใจในการอุนรักษ์รักษาอ่าวปัตตานี ถ้าเรารักษาอ่าวปัตตานีไว้ได้ อย่างน้อยก็จะสามารถลดภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ได้ไม่มากก็น้อย นับว่าเป็นภูมิปัญญาไทยที่ใส่ใจโลกร้อนอีกอย่างหนึ่ง

1 ความคิดเห็น: